วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ความคิดสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ (Modernism and Postmodernism)

ความคิดสมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ (Modernism and Postmodernism)

แนวคิดใหม่ทันสมัย (Modernism) เป็นยุคประวัติศาสตร์ของสังคมยุโรปตะวันตก ที่เกิดการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพราะในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 เป็นยุคที่สนใจศึกษาค้นคว้าปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบวิทยาศาสตร์ (Scientism) มาช่วยแก้ปัญหาสังคมทั้งหลายที่เกิดขึ้น แล้วส่งผลมีอิทธิพลต่อการศึกษาสังคมวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ของคองต์ในเวลาต่อมา (Comte’s positivism) ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จึงถือได้ว่าเป็นยุคความคิดใหม่ทันสมัย (Modernism) อันหมายถึงยุคสมัยให้ความสนใจในเรื่องศิลปะ วรรณคดี วิทยาการ สถาบัน เหตุผล การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ รูปแบบของชีวิต ความจริงของชีวิตบนฐานของความเจริญเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก กล่าวคือ เป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญทางวัตถุ ความมั่นคงทางสังคม และความรู้เข้าใจตนเอง (Material progress, social stability and self-realization) ในยุโรปตะวันตก มีอังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นต้น แม้มีปัจจัยต่างๆ มากมายที่ทำให้เกิดสมัยใหม่ ปัจจัยสำคัญเหล่านี้ คือ ความจริง (Truth) เหตุผล (Rationality) วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) ผลของอุตสาหกรรม (Emergence of capitalism) การแผ่อำนาจทางตะวันตก (Western imperialism) การแพร่กระจายความรู้ และอำนาจทางการเมือง (Spread of literature and political power) การขับเคลื่อนทางสังคม (Social mobility) เป็นสาเหตุสำคัญสนับสนุนส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคมโลก ที่เรียกกันว่า สมัยใหม่ความทันสมัย (Modernism)”

ความคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) เป็นสังคมที่เจริญพัฒนาถึงจุดสูงสุด พรั่งพร้อมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ เป็นสังคมที่ผ่านพ้นความเจริญสูงสุดหรือผ่านเลยสังคมอุตสาหกรรมไปแล้ว (Postmodern society or postindustrial society) ผู้คนในยุคนี้หนักไปในการเสพบริโภคใช้สอย ที่เรียกกันว่า สังคมบริโภค (Consumer society) ภูมิหลังทางวัฒนธรรม เป็นสังคมที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระเจ้า เชื่อศรัทธาในเรื่องเทพเจ้า ในสากลโลกนี้ มีพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งทรงพลานุภาพสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด ทรงสร้างสรรค์สรรพสิ่งทุกอย่าง ทรงกำหนดลิขิตบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างตามอำนาจของตน ทรงเอาพระทัยใส่ใจดูแลทุกสิ่งทุกอย่างให้ดำเนินไปด้วยดี สร้างมนุษย์ขึ้นมาก็เพื่อให้รู้จักกับพระองค์ท่าน มนุษย์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน เพื่อให้พระองค์ท่านโปรดปราน ตายไปแล้วไปอยู่กับพระองค์ท่านในสวรรค์ตลอดกาล ผู้ที่ไม่เคารพศรัทธายำเกรงในพระผู้เป็นเจ้า ตายไปแล้วดวงวิญญาณของเขาก็จะไปอยู่ในนรกตลอดกาลเช่นกัน แนวคิดและการปฏิบัติในลักษณะนี้ยังมีอิทธิพลแพร่กระจายครอบคลุมไปทั่วสังคม แม้ว่าสังคมตะวันตกเจริญพัฒนาถึงจุดสูงสุด พรั่งพร้อมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุ แทนที่จะสุขสมหวังกับความพรั่งพร้อมสมบูรณ์นั้น แต่กลับผิดหวังหาคุณค่าความหมายของชีวิตไม่ได้เหมือนเดิม กลับสร้างปัญหาก่อความเดือดร้อนให้กับสังคมมากกว่าเดิม เพราะขาดแคลนแร้นแค้นวัฒนธรรมทางจิต เกิดวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรมทางจิตอยู่เสมอ สับสนสงสัยไม่รู้เข้าใจในความจริงของชีวิตและหลักการดำเนินชีวิตอย่างต่อเนื่อง พยายามสนใจใฝ่รู้ในเรื่องความเป็นมนุษย์ คุณภาพมนุษย์ และลักษณะมนุษย์ (General sense of humanity, human qualities and identities) ไม่หยุดยั้งแม้แต่ในปัจจุบัน

อ้างอิง

·       ดร. สุเทพ สุวีรางกูร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
http://www.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=518&Itemid=148&limit=1&limitstart=0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น